วันพฤหัสบดีที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2554

Dealing with Drawdowns : จัดการกับการขาดทุนของคุณให้ถูกวิธี


ตัดขาดทุน ห้ามเลือด

การขาดทุนอย่างหนักหรือการที่มูลค่าเงินทุนลดลงอย่างต่อเนื่อง (Drawdowns) เป็นสิ่งที่มีผลต่อจิตใจของนักเล่นหุ้นอย่างพวกเราแต่ละคนไม่มากก็น้อย อย่างไรก็ตาม ผมเองเห็นว่าหลายๆคนมักที่จะหลีกเลี่ยงที่จะเผชิญกับความจริง หรือแม้แต่คอยที่จะหลอกตัวเองเพื่อให้พ้นจากความรู้สึกแย่ๆอยู่เสมอ นี่เป็นสิ่งที่มีความอันตรายอย่างมาก และจะส่งผลต่อพฤติกรรมการเล่นหุ้นในวันข้างหน้า วิธีการต่อไปนี้จึงเป็นแนวทางเบื้องต้นที่จะช่วยให้คุณรู้จักรับมือกับการขาดทุนได้อย่างเหมาะสมกันยิ่งขึ้นครับ

1. ห้ามเลือดเสียก่อนเป็นอันดับแรก

คุณต้องกล้าตัดขาดทุนอย่างทันที! หรืออย่างน้อยต้องพยายามทยอยขาย และลดการถือหุ้นของคุณให้น้อยลงมาเสียก่อน อย่างไรก็ตาม นี่เป็นสิ่งที่พูดง่ายแต่ทำค่อนข้างยากอยู่พอสมควร โดยเฉพาะในเวลาที่คุณต้องเผชิญกับสถานการณ์การขาดทุนอย่างหนัก (เพราะคุณจะหน้ามืดพอสมควร) แต่นี่ก็เป็นสิ่งที่คุณจำเป็นต้องทำที่สุดเมื่อช่วงเวลาแบบนี้มาเยือน อย่าพยายามหาข้ออ้างกับตัวคุณเอง ในเมื่อสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นไม่เป็นอย่างที่คุณคิด คุณก็ควรต้องยอมรับความจริงให้ได้ … จริงไหมครับ?

2. รับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น และบอกให้ใครบางคนได้รับรู้

อย่าพยายามปกปิดมันเอาไว้ คุณต้องซื่อสัตย์กับสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวของคุณเอง หรือรวมถึงคนอื่นๆที่คุณอาจกำลังรับบริหารพอร์ทการลงทุนของพวกเขาอยู่ การรายงานสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นไม่จำเป็นต้องทำอย่างเป็นทางการก็ได้ สิ่งสำคัญคือความจริงที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ต่างหาก การทำเช่นนี้นั้นมีผลในแง่จิตวิทยาการลงทุนของคุณมากทีเดียวครับ เนื่องจากมันจะเป็นการบังคับให้คุณต้องยอมรับที่จะเผชิญกับความจริงไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ซึ่งจะเป็นผลดีในระยะยาวกับตัวของคุณเอง การได้ระบายให้ใครสักคนที่คุณไว้ใจได้รับรู้ (พ่อ, แม่, แฟน, น้อง, เพื่อน …หรืออื่นๆ) จะช่วยให้ไม่เกิดรอยแผลที่จะคอยย้ำอยู่ในจิตใจของคุณ ซึ่งสุดท้ายมันจะกลายเป็นสิ่งที่สร้างพฤติกรรมของคุณจากสิ่งที่คุณพยายามปิดบังอยู่ (เก็บกดนั่นเอง)

3. เผชิญหน้ากับการขาดทุน

โดยปกติแล้ว เมื่อสถานการณ์การขาดทุนเริ่มที่จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง นักเล่นหุ้นโดยส่วนใหญ่มักที่จะพยายามมองข้าม หรือหลีกเลี่ยงที่จะรับรู้ต่อการขาดทุนเหล่านั้น (เรามักจะหาเหตุผล หรือความเห็นต่างๆนาๆเพียงเพื่อที่จะทำให้เราไม่รู้สึกแย่ไปกับมัน) แต่การกระทำเช่นนี้ไม่ได้ก่อประโยชน์อะไรเลยกับตัวของคุณเอง ซ้ำร้ายมันยังทำให้คุณไม่เกิดการพัฒนาใดๆขึ้นมาอีกด้วยในวันข้างหน้า เพราะมันคือการทิ้งโอกาสที่จะเรียนรู้จากความผิดพลาดของคุณไปอย่างน่าเสียดาย ดังนั้น สิ่งที่คุณควรทำหลังจากที่เกิดการขาดทุนหนักๆหรือต่อเนื่องขึ้นมา ก็คือการย้อนกลับไปเผชิญหน้ากับผลการลงทุนของคุณซะ อาจเป็นการย้อนดู Report ที่เกิดขึ้นสักเดือนหรือสองเดือนย้อนหลังไปก็ได้ และจดจำสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นเอาไว้ให้ชัดเจนที่สุด

4. ย้อนกลับไปทำความเข้าใจต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอีกครั้ง

เมื่อคุณกล้าที่จะเผชิญกับความจริงที่เกิดขึ้นกับคุณได้แล้ว ให้คุณลองนั่งพิจารณาถึงสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างละเอียด จินตนาการกลับไปถึงสิ่งที่ได้เกิดขึ้นตามลำดับ ว่ามีอะไรที่ผิดพลาดไปบ้าง ทั้งในแง่ของแผนการลงทุนหรือแม้แต่จิตใจและความนึกคิดของตัวคุณเอง คุณต้องพยายามระบุมันออกมาให้ได้ว่าสิ่งเหล่านี้แท้จริงแล้วเกิดขึ้นมาจากอะไร จงซื่อสัตย์กับตัวของคุณเองมากที่สุด คุณต้องไม่หลอกตัวเอง หลังจากนั้นคุณต้องรู้จักวางแผนเพื่อแก้ไขข้อผิดพลาดของคุณให้ดีที่สุด

pdsp-triangle-largeNote: อย่างไรก็ตาม เมื่อคุณมองลงไปที่ระบบการลงทุน คุณต้องเข้าใจสภาพวะอย่างหนึ่งในตลาดหุ้น ซึ่งเป็นเรื่องของความน่าจะเป็นอยู่ส่วนหนึ่ง อย่าตกเป็นเหยื่อของ Outcome Bias หรือผลการเทรดเพียงไม่กี่ครั้ง ซึ่งมีโอกาสที่จะเกิดการขาดทุนขึ้นได้บ้างเป็นเรื่องธรรมดา คุณควรที่จะมองไปที่ภาพใหญ่เมื่อคิดถึงระบบการลงทุนของคุณ (อย่างน้อยคุณควรจะสรุปผลหลังจากที่เกิดการซื้อขายไปแล้วมากกว่า 30 – 35 ครั้ง) ไม่เช่นนั้นสิ่งทีเกิดขึ้น จะกลายเป็นการพยายามไล่ล่าหา Holy Grail ซึ่งไม่มีอยู่จริง และการเปลี่ยนระบบการลงทุนไปๆมาๆ จะไม่ช่วยทำให้อะไรดีขึ้น!

5. พัฒนาและปรับปรุงแผนการปฏิบัติการในการเล่นหุ้นของคุณ

หากคุณค้นพบได้แล้วว่าสิ่งใดที่ทำให้เกิดความผิดพลาดหรือขาดทุนต่อเนื่องขึ้นมา คุณต้องสร้างแผนที่จะรับมือกับมันขึ้นมาอย่างชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น หากว่ามันเป็นปัญหาที่เกิดจาก “วินัย” ของคุณเอง คุณจะทำอย่างไรกับมันบ้าง? แต่หากว่ามันเป็นปัญหาจากระบบการลงทุนของคุณ คุณจะทำอย่างไรกับมัน? คุณจะทิ้งมันไป … หรือคุณจะทำการวิจัยและทดสอบมันให้ลึกมากขึ้น? หรือหากว่ามันเป็นผลจากสภาพแวดล้อมภายนอกเช่น Platform การซื้อขายของคุณ คุณจะทำอย่างไรกับมัน?

นี่คือตัวอย่างของสิ่งต่างๆที่อาจเกิดขึ้นได้ และคุณต้องเรียนรู้ที่จะปรับปรุงแก้ไขกับปัญหาที่เกิดขึ้น อย่าปล่อยให้สิ่งต่างๆผ่านเลยไป หรือปล่อยให้มันเกิดขึ้นซ้ำๆ โดยที่คุณไม่ได้หาหนทางแก้ไขหรือรับมือกับมันเอาไว้นำปัญหาเหล่านี้มาคิดให้ตก และเขียนแผนรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นเอาไว้เสีย

สุภาสิตไทยบอกไว้ว่า “เจ็บแล้วจำคือคน เจ็บแล้วทนคือ … (เจ้าฉงน)” นะครับ Open-mouthed smileอย่ามันแต่แก้ตัวหรือขอความปราณีจากตลาดไปเรื่อยๆ ความผิดพลาดไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่การไม่รู้จักแก้ไขความผิดพลาดต่างหาก ที่ทำให้ให้ทุกอย่างย่ำแย่ลงไป รีบแก้ไขเสียก่อนจะไม่เหลืออะไรให้แก้นะครับ ขอให้โชคดีทุกคนครับ

ขอบคุณบทความดี ๆ จาก http://www.mangmaoclub.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น